วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475


             รุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 กำลังทหารบก ทหารเรือ ก็ได้มารวมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งหมดเป็นกองกำลังในพระนคร บุคคลเหล่านี้มารวมกันโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว จากคำสั่งปลอมทั้งของกองทัพบกและกองทัพเรือ ส่วนนายทหารอื่น ๆ ที่คุมกำลังได้ตามเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พวกที่รู้ตัว ได้แก่ ผู้นำก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้ถือโอกาสประกาศคำสั่งของคณะปฏิวัติต่อทหารบกและทหารเรือที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ผู้ที่ประกาศคำสั่งของคณะปฏิวัติก็คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งขึ้นไปยืนอยู่บนรถถังร้องประกาศแก่เหล่าทหารที่มาชุมนุมกันว่า บัดนี้คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยขึ้นปกครองประเทศ ทหารทั้งหลายพากันโห่ร้องต้อนรับคณะปฏิวัติ เนื่องจากมีความไม่พอใจระบอบการปกครองแบบเก่าอยู่แล้ว แต่บางคนก็จำใจทำไปอย่างสับสนต่อเหตุการณ์ขณะนั้น คณะปฏิวัติได้ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้โดยสิ้นเชิง และได้เชิญเจ้านายและพระราชวงศ์บางพระองค์ที่คุมกำลังทหารมากักไว้โดยให้ประทับอยู่ภายในพระนั่งอนันตสมาคมเพื่อเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจมากที่สุด โดยคุมกำลังทหารและพลเรือนของประเทศส่วนใหญ่ไว้ และได้ทูลให้ลงพระนามประกาศที่คณะราษฎรนำมาถวายซึ่งมีข้อความว่า

               “ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อ ของคนไทยด้วยกันโดยไม่จำเป็นเลย

คณะปฏิวัติได้อาศัยประกาศนี้ซึ่งเป็นเสมือนคำรับรองจากผู้มีอำนาจสูงสุดขณะนั้นออกคำสั่งให้ส่วนราชการทุกแห่งทั่วประเทศรวมทั้งกำลังทหารหัวเมืองควรปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ โดยไม่มีการหยุดชะงักใด ๆ เลย
ฝ่ายพลเรือนของคณะปฏิวัตินำโดยนายควง อภัยวงศ์ ได้ปฏิบัติงานในวันนี้ด้วยเช่นกัน โดยออกตระเวนตัดสายโทรเลข โทรศัพท์ ทั้งพระนครธนบุรี เพื่อปิดกั้นการติดต่อสื่อสารและสั่งการในสายการบังคับบัญชาหรือติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะปฏิวัติได้จัดทำแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติเพื่อแจกและแถลงต่อสื่อมวลชนในวันปฏิวัตินั้นด้วยเช่นกัน                                                           
เมื่อเหตุการณ์ภายในพระนครวังเป็นไปด้วยดี คณะราษฎรก็ได้ทำหนังสือราชการซึ่งลงนามโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ส่งไปกราบถวายบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และอัญเชิญในหลวงกลับสู่พระนครเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้ร่างขึ้น   

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรก็ได้รับคำตอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากหัวหิน แจ้งว่าพระองค์ทรงยอมรับความสิ้นสุดแห่งพระราชอำนาจสิทธิของพระองค์ และทรงรับทราบถึงการตั้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ในแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของประเทศ พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งด้วยว่า พระองค์เองก็ได้ทรงคิดที่จะให้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้วเหมือนกันและทรงตั้งพระทัยว่า พระองค์จะทรงดำรงตำแหน่ง องค์พระประมุขของรัฐ และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษโดยลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งร่างขึ้นทูลถวายโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นิรโทษกรรมให้แก่คณะราษฎรผู้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในครั้งนั้น รวมความแล้วความสำเร็จในการปฏิวัติครั้งนี้ ส่วนสำคัญประการหนึ่งขึ้นอยู่กับความว่องไวของคณะราษฎรและการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามกฎระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของฝ่ายรัฐบาลคือ ทราบแผนการปฏิวัติก่อนแต่อ้างว่ายังไม่มีอำนาจจับกุม หลังจากได้ปรึกษากับกระทรวงยุติธรรมแล้ว ความชักช้าเหล่านี้เอื้ออำนวยให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นไปโดยสะดวกตามแผนที่วางไว้สมบูรณ์ที่สุด

แนวนโยบายและหลักการของคณะราษฎร แนวนโยบายของคณะราษฎรซึ่งกำหนดขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ ซึ่งกำหนดเป้าหมายกว้าง ๆ เพื่อให้งานของคณะราษฎรสำเร็จลุล่วงตามความประสงค์ก็คือ
1. ต้องให้มีพระเจ้าแผ่นดินตลอดไป
2. ต้องทำเพื่อประชาธิปไตย
3. ต้องฟังความเห็นซึ่งกันและกัน
4. ต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง
5. ต้องทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า
6. ต้องไม่ทรยศต่อประเทศชาติ
7. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
8. ต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว
9. ต้องมีความประพฤติดี
10. ต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง

ส่วนหลักการของคณะราษฎรนั้นศึกษาได้จากประกาศของคณะราษฎรดังนี้คือ
1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
 2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
 4.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
 5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น
 6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จากแนวนโยบายและคำประกาศของคณะราษฎรบอกให้เข้าใจถึงสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นสาหตุของการปฏิวัติ พ.ศ.2475 และหลังจากการปฏิวัติสำเร็จลงแล้ว ผู้นำการปฏิวัติได้วางหลักการปกครองบ้านเมืองไว้ด้วยโดยครอบคลุมด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 วัน คือในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ร่างและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

นับว่าเป็นการมอบอำนาจการปกครองแก่คณะราษฎรเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้ามาปกครองประเทศตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้จึงมีผลเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์และเป็นกฎหมายที่เริ่มศักราชใหม่แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในด้านการปกครองได้มีการตั้งผู้นำฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินอย่างรีบด่วนคือ ให้พันเอกพระยาพหลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารและได้ประกาศแต่งตั้งผู้แทนราษฎรชุดแรกขึ้นจำนวน 70 คน โดยคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะราษฎร และอื่น ๆ และได้มอบอำนาจการปกครองแผ่นดินให้แก่สภาผู้แทนราษฎร (เป็นสภาเดียวสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด) ซึ่งเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475


จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 นั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวขึ้นโดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร และมีกรรมการราษฎรอีก 14 นาย ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นรัฐบาลภายใต้รัฐสภาคือ ฝ่ายบริหารอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาโดยตรงและฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจยุบสภา สภาผู้แทนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศต่อไป และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2475


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น