วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

           


             เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียระหว่างประเทศใหญ่ 2 ประเทศ คือ จีนกับอินเดีย ลักษณะภูมิประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ ประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย (ตะวันตก) ส่วนที่เป็นเกาะ ได้แก่ สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย (ตะวันออก) และติมอร์ คำว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เริ่มใช้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หรือฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ตั้งศูนย์บัญชาการการรบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นใน ค.ศ.1943 เพื่อทำสงครามกับญี่ปุ่น การเรียกชื่อแบบร้เพราะ เพื่อความเด่นชัดในทางด้านภูมิศาสตร์
     
แว่นแคว้นโบราณในภาคพื้นทวีป

            1.เวียดนาม   
            หลักฐานชุมชนที่เก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ชุมชนชาวเหยอะและชาวโล ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวเวียดนามในปัจจุบันชนชาติเวียดและชาวโลอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน   จนถึงตอนเหนือของเว้ในปัจจุบัน บริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงจนถึงปากแม่น้ำแดง โดยตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ในพ.ศ.432จีนจึงเข้ามายึดครองดินแดนบริเวณนี้และปกครองชาวเวียดนาม จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1511 เวียดนามได้ประกาศตนเป็นเอกราช และแต่งตั้งเมืองหลวง คือถังหลวง (ฮานอยในปัจจุบัน)
           จากการที่เวียดนามตกอยู่ใต้การปกครองของจีนมานานนับพันปี ทำให้ชาวเวียดนามผูกพันอย่างใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีน โดยรับวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน

            2.จามปา
           ดินแดนของจามปาในอดีต ได้แก่ ส่วนที่เป็นดินแดนตอนกลางของประเทศเวียดนาม ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จดหมายเหตุจีนบอกรายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีแต่งงานว่ามักทำในเดือน 8 โดยฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายสู่ขอชาย บ้านเรือนราษฎรสร้างด้วยอิฐก่อเป็นอาคาร เมื่อตายใช้ผ้าห่อศพเรียบร้อยแล้วแห่ไปยังแม่น้ำหรือทะเลแล้วเผาศพที่นั่น นำเถ้าถ่านทิ้งน้ำ เมืองหลวงของจามปา คือ เมืองอินทรปุระ จามปาต้องเผชิญกับการรุกรานของรัฐข้างเคียงที่เข้มแข็งกว่า เช่น เวียดนาม จีน และกัมพูชา และสูญเสียเอกราชแก่เวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2014 ชาวจามปาต้องอพยพหลบหนีออกไปอยู่ต่างแดนกระจัดกระจาย จามปาก็ล่มสลายไปตั้งแต่ครั้งนั้น

           3.เจนละ
           มีศูนย์กลางอยู่ในดินแดนลาวตอนล่าง จากหลักฐานที่พบที่เมืองศรีเทพ และที่จังหวัดสระบุรี ทำให้สันนิษฐานว่าดินแดนแถบนี้ก็อยู่ในเขตอิทธิพลของเจนละด้วย กษัตริย์ที่ เข้มแข็งที่สุดของเจนละ คือ พระเจ้าอิสานวรมัน ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง เจนละรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อย่างเคร่งครัด มีการสร้างเทวาลัย เทวรูป ปราสาทหิน มีพิธีบูชาเทพเจ้าในเทวาลัยบนยอดเขาและใช้ภาษาสันสกฤต เจนละเสียอำนาจแก่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2  ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ฟูนัน ล้มล้างอำนาจของเจนละและสถาปนาอาณาจักรกัมพูชาขึ้น

           4.มอญ
          ตั้งอยู่บริเวณระหว่างที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสะโตงและแม่น้ำสาละวิน จากหลักฐานชาวอาหรับเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า รามัญประเทศ และพงศาวดารมอญกล่าวว่าชาวมอญได้สร้างเมืองตะโทงหรือเรียกกันว่า ท่าตอน เป็นเมืองหลวงใน พ.ศ. 241 และเจริญรุ่งเรืองมาจนถึง พ.ศ. 1600 ชาวพม่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศพม่าปัจจุบันได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นอาณาจักรพุกามที่มีความเข้มแข็งตามลำดับ ได้ยกทัพมาโจมตีมอญและครอบครองได้สำเร็จ ทั้งนี้ทำให้พม่าได้ยอมรับวัฒนธรรมของมอญที่ชาวมอญเป็นผู้ถ่ายทอดให้ไปปฏิบัติ เช่นการนับถือพระพุทธศาสนานิกายหีนยาน เป็นต้น

            5.พุกาม
            ดินแดนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีของพม่าเดิมมีชาวมอญได้มาสร้างบ้านเรือนเป็นอาณาจักรมอญ และเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่14 ชาวพม่าที่อาศัยอยู่ทางเหนือของประเทศพม่าในปัจจุบันได้ขยายอำนาจมายังที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีแทนที่อาณาจักรของมอญ ต่อมา พ.ศ. 1587 ผู้นำชาวพม่า คือ พระเจ้าอโนรทา สามารถก่อตั้งอาณาจักรพุกามเป็นปึกแผ่นขึ้นได้สำเร็จ และมีความเจริญรุ่งเรือง สามารถขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองดังกล่าวเห็นได้จากการสร้างวัดขนาดใหญ่จำนวนมาก จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 จึงสลายตัวเนื่องจากถูกกองทัพของมองโกลยึดครองได้เมื่อ พ.ศ. 1830

            6.ทวารวดี
            ทวารวดีเป็นอาณาจักรโบราณสมัยประวัติศาสตร์ที่พบหลักฐานแห่งแรกบนผืนแผ่นดินไทย เอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง เช่น บันทึกการเดินทางของหลวงจีนอี้จิง ทำให้ทราบว่าอาณาจักรทวารวดีอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันตกของภาคกลางสันนิษฐานว่าศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่จังหวัดนครปฐมและจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองนครชัยศรี (นครปฐม) พบโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงถึงการเป็นเมืองสำคัญของนครปฐมในสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาทปางแสดงธรรมจักรและโบราณสถานขนาดใหญ่ เช่น เจดีย์จุลประโทนและฐานอาคารที่วัดพระเมรุ นอกจากนี้ยังได้พบเหรียญเงินที่มีจารึกชื่อทวารวดีในเมืองใกล้เคียง ได้แก่ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท ช่วงระยะที่อาณาจักรแห่งนี้ดำรง อยู่คงจะประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 - 12



          
                                                                                                    
              7. หริภุญชัย
              ตั้งอยู่ที่เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เป็นอาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางของเมืองต่างๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนและที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง ตำนานเมืองหริภุญชัยหรือตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวถึงการตั้งเมือง หริภุญชัยว่า ฤาษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมือง หริภุญชัยและขอให้กษัตริย์ละโว้ ส่งเชื้อพระวงศ์มาปกครอง กษัตริย์ละโว้จึงส่งพระนางจามเทวี ผู้เป็นพระราชธิดาเลี้ยงและสะใภ้หลวงมาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญชัย พระนางจามเทวีได้ขอช่างฝีมือจากละโว้ไปช่วยสร้างเมือง หริภุญชัยและเชิญพระสงฆ์ 500 รูป มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่หริภุญชัย ทำให้หริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ และศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ดังที่มีหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน คือ พระธาตุหริภุญชัย ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองลำพูน ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอาทิตยราชเป็นผู้สร้างเจดีย์หริภุญชัย ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกาและเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำพูนอย่างสูง


                8.ละโว้
               เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในสมัยทวารวดี ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก  มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้หรือลพบุรีในปัจจุบัน การที่ละโว้ตั้งอยู่บริเวณที่มีแม่น้ำสายสำคัญ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี จึงเป็นอาณาจักรที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีเส้นทางติดต่อกับเมืองในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่ราบสูงโคราช และเขตติดต่อกับทะเลสาบเขมร ทำให้ละโว้เป็นแหล่งทรัพยากรและศูนย์กลางการติดต่อระหว่างชุมชนโดยรอบ ส่งผลให้ละโว้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีเศรษฐกิจดีและการติดต่อกับชุมชนภายนอก ทำให้ละโว้ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ ที่สำคัญคือจากอินเดีย เมื่อขอมหรือเขมรขยายอิทธิพลเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ละโว้จึงกลายเป็นเมืองประเทศราชของเขมรและรับอารยธรรมเขมรด้วย



                ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 เป็นช่วงที่อาณาจักรละโว้ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียค่อน ข้างมาก โดยรับแนวคิดเรื่องการมีกษัตริย์ปกครอง มีการแบ่งชนชั้นออกเป็นชนชั้นสูง สามัญชน และทาส การนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นศาสนาที่ผู้คนให้การเคารพนับถือมากใน ละโว้ ทั้งนี้เพราะพบจารึกภาษาบาลีที่กล่าวถึงการอุทิศถวายสิ่งของ ข้าทาสให้แก่วัด และพบประติมากรรม เช่น พระพุทธรูป ธรรมจักร เป็นต้น นอกจากนี้พระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เผยแผ่อยู่ในละโว้ ดังพบพระพิมพ์ที่มีรูปพระโพธิสัตว์ประทับข้างพระพุทธเจ้ารวมทั้งการมีความเชื่อในศาสนพราหมณ์-ฮินดู ที่เข้ามาโดยพวกพราหมณ์และชนชั้นปกครองและความเชื่อพื้นเมือง ได้แก่ การบูชาบรรพบุรุษและการบูชารูปพระราชมารดาอีกด้วย

แว่นแคว้นโบราณในคาบสมุทรและหมู่เกาะ
            1. ทุน ซุน
            จากบันทึกชาวจีนกล่าวว่าทุนซุนตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูทางใต้ของฟูนัน ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณคอคอดกระ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของไทย ทุน ซุนถือเป็นเมืองที่ควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรที่สามารถติดต่อกับอ่าวตังเกี๋ยทางทิศตะวันออกและอินเดียทางทิศตะวันตกได้
            2.ตามพรลิงค์
           เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดทางภาคใต้ของไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช โดยมีหลักฐานที่กล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 ตามพรลิงค์เปลี่ยนชื่อเป็น นครศรีธรรมราช และราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มีอิทธิพลครอบคลุมบรรดาหัวเมืองและแว่นแคว้นอื่นๆ ทั่วแหลมมลายู มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ต่อมาถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยาในปลายพุทธศตวรรษที่ 20
           อาณาจักรนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจากการเป็นเมืองท่าของพ่อค้าชาวอินเดีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 ในระยะแรกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย แต่ในพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง ทำให้ตามพรลิงค์ขยายตัวกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการเมืองในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้แทน และจากหลักฐานจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง กล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์ว่าเป็นเมืองท่าการค้าที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับจีนมากชนิดกว่าที่อื่น และได้ส่งคณะทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการกับจีนใน พ.ศ.1613 ซึ่งแสดงว่าตามพรลิงค์เป็นรัฐอิสระ
            3. พัน พัน
           จากบันทึกชาวจีนกล่าวว่า พัน พัน ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูแถบริมฝั่งทะเล ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณอำเภอพุนพินหรือบริเวณอ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทยในปัจจุบัน
           4. ลังกาสุกะ
            ก่อตั้งขึ้นราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 7 มีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของจีนสมัยราชวงศ์เหลียง ที่กล่าวถึงอาณาจักรลังกาสุกะ โดยเรียกชื่อว่า หลวงหยาซิ่วมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดปัตตานีและยะลา มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ลังกาสุกะเป็นอาณาจักรที่เติบโตมาจากการเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติโดยเฉพาะจีนแลอินเดีย แต่มีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่า โดยมีหลักฐานจีนบันทึกไว้ว่า ลังกาสุกะส่งทูตไปเมืองจีนหลายครั้ง
           5. ฉีตู
           จากบันทึกชาวจีนกล่าวว่า ฉีตูตั้งอยู่ทางใต้ของตามพรลิงค์ ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่ามีเมืองหลวงอยู่บริเวณกลันตัน พัทลุง หรือนครศรีธรรมราช
             6. ตักโกลา
             ตั้งอยู่ฝั่งทะเลด้านตะวันตกของคาบสมุทร สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่บริเวณอ่าวพังงาและตะกั่วป่า ในอดีตเมืองตักโกลาเป็นเมืองท่าสำคัญที่พ่อค้าและนักเดินเรือทั้งชาวจีนและอินเดียรู้จักเป็นอย่าดี
            7. ศรีวิชัย
             ได้ปรากฏนามเป็นครั้งแรกจากเอกสารจีน และต่อมาเมื่อมีการค้นพบศิลาจารึกและบันทึกของชาวอินเดียที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงการมีอยู่ของอาณาจักรแห่งนี้ อาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีอิทธิพลครอบคลุมตั้งแต่เกาะชวาในอินโดนีเซียขึ้นมาถึงเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
             อาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะอยู่ในเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างจีน อินเดีย และอาหรับ เป็นเมืองที่เกิดจากการรวมตัวกันของเมืองท่าบริเวณช่องแคบมะละกา เอกสารร่วมสมัยของชาวต่างชาติที่เคยเดินทางมายังอาณาจักรแห่งนี้ระบุว่า ศรีวิชัยเป็นดินแดนที่มั่งคั่งร่ำรวย พลเมืองที่อยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยเป็นชาวพื้นเมืองปะปนกับพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเวลาต่อมา โดยมีกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ชวา
            อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 เพราะถูกอาณาจักรโจฬะ ซึ่งปกครองอินเดียตอนใต้ส่งกองทัพเรือเข้าโจมตีอาณาจักรศรีวิชัยและเมืองอื่นๆ ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย ทำให้อำนาจทางการเมืองของศรีวิชัยสิ้นสุดลง ส่วนอำนาจทางการค้าเริ่มตกต่ำลงเมื่อจีนเริ่มแต่งเรือสำเภาออกไปค้าขายยังเมืองต่างๆเองอาณาจักรศรีวิชัยในฐานะพ่อค้าคนกลางจึงลดบทบาทลงไป
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น